หมอจเด็จ เลขาฯสปสช. ชื่นชม กปท.ไผ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ หนุนงบประมาณสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่ายบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง พบผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน
หมอจเด็จ เลขาฯสปสช. ชื่นชม กปท.ไผ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ หนุนงบประมาณสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ พบผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน เผยผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงพอใจโครงการฯ มองว่าเป็นประโยชน์มาก ขณะที่รพ.ราษีไศลต้นแบบระบบหลักประกันสุขภาพ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ระบบหลักประกันสุขภาพ ณ รพ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. และ นางมลุลี แสนใจ ผอ.สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงานโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึงพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (อบต.) ไผ่ และเยี่ยมผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง (ติดเตียง) จำนวน 3 ราย ในพื้นที่กปท. ไผ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
โดยมี นส.สุดาพร อำไพ รักษาการนายก กปท.ไผ่ อ.ราษีไศล พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วย มอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และมีอสม. พร้อมแคร์กิฟเวอร์ (Caregiver : CG) และ แคร์เมเนเจอร์ (care manager: CM)เข้าช่วยเหลือ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบบรรจุ “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย” ให้เป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กองทุน กปท.)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กองทุน กปท.) ภาพรวมทั้งประเทศมี กปท 7,741 แห่ง ดำเนินการโครงการผ้าอ้อม 1,981 แห่ง จำนวน 2,434 โครงการ ผู้ที่ได้รับผ้าอ้อม จำนวน 48,502 ราย ผ้าอ้อมที่แจกจำนวน 18.9 ล้านชิ้น และแผ่นรองซับ 583,735 ชิ้น ใช้งบประมาณรวม 183.76 ล้านบาท
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์ (1) บุคคลที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน ตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) ของหน่วยจัดบริการ (2) บุคคลที่มีภาวะปัญหากั้นปัสสาวะอุจจาระ ไม่ได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และการประเมินของหน่วยจัดบริการ โดยให้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย ฟรีไม่เกิน 3 ชิ้นต่อวัน ผ่านกองทุนสุขภาพตำบล หรือ กองทุน กปท. ตามการประเมินตามแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan)
“โครงการนี้ทำให้บุคคลที่มีภาวะปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมากขึ้น” เลขาธิการสปสช.กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า จากการที่ลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น มีการใช้กลไกทางการเงินและความรู้พื้นฐานเข้าถึงผู้รับบริการ มี
การบูรณาการร่วมกันโดยเน้นผู้ป่วยเป็นเป้าหมายหลักค่อนข้างเยอะมาก ทั้งส่วนรพ. นักพยาบาลเป็นผู้จัดการมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยได้ดี
“เห็นพัฒนาการทำงานอย่างมีความหวัง อาจมีการขับเคลื่อนและยกระดับอาสาสมัครเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้นในการดูแลผู้ป่วยที่ทำได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชนบทและอาจยกระดับให้เกิดเป็นอาชีพได้ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในระดับรพ.ปฐมภูมิ เช่น ชุมชน ครอบครัวจะมีส่วนสำคัญในการช่วยกันดูแล เราไม่ได้แสดงเพียงแค่ภาพที่เห็นเท่านั้น แต่รวมถึงความสุขของผู้ป่วย ชุมชน คือ ค่าตอบแทนที่เห็นผล” นพ.จเด็จ กล่าว
ขณะที่นส.สุดาพร อำไพ รักษาการนายกกปท.ตำบลไผ่ กล่าวว่า กปท.ไผ่ มีจำนวนหมู่บ้านในเขตการปกครองทั้งหมด 12 หมู่บ้าน มี รพ.สต. 1 แห่งคือ รพ.สต. บ้านไผ่ จำนวนประชากร ทั้งสิ้น 5,121 คน เป็นชาย 2,526 คน หญิง 2,595 คน มีผู้สูงอายุ จำนวน 1,050 ราย สถานะสุขภาพของประชาชน ในช่วง ปี 10 ปีที่ผ่านมา (55-64) ส่วนใหญ่ประชาชนมีการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อหรือ NCD ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ปอดบวม ไตวาย และเบาหวานผู้สูงอายุที่ยังมีชีวิต และได้รับการดูแลในกองทุน LTC จำนวน 110 ราย และเป็นผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 50 ราย จัดบริการโดย ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลไผ่
รักษาการนายกฯ กล่าวว่า กปท.ไผ่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นการยกระดับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่เขตอบต.ไผ่ โดย กปท.ไผ่ ได้สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ให้ครอบคลุมในพื้นที่ รพ.สต.บ้านไผ่ ได้มีแบ่งเป็นกลุ่ม ก. เป็นบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน ตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) จำนวน 110 คน และกลุ่ม ข. เป็นบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่ละคนจะได้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จำนวน 3 ชิ้น ต่อวัน ชิ้นละ 9.50 บาท โดยหนึ่งคนจะได้ผ้าอ้อมประมาณคนละ 30-90 ชิ้น แจกราย 1 เดือน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่เก็บของบ้านผู้ป่วย
ทั้งนี้ ผลการจัดทำโครงการตามแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงพอใจโครงการ มองว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
จากนั้นนพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช.พร้อมคณะ กปท.ไผ่ได้ลงเยี่ยมผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ได้รับมอบผ้าอ้อม
จากกปท.ไผ่ จำนวน 3 ราย ซึ่งพิจารณาจาก มีฐานะยากจน และได้รับการดูแล care plan จนสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และมอบผ้าอ้อม ตามโครงการฯ โดยเคสแรก นางบุญ โสภารัตน์ อายุ 85 ปี
นางวิจิตร บุญอินทร์ อายุ 55 ปี โดย 2 เคสแรก ป่วยเป็น HT, stroke (แขนขาอ่อนแรง)
นางสีดา จันทพันธ์ อายุ 66 ปี เป็น Stroke เบาหวาน ความดัน อย่างไรก็ตามทั้งคณะผู้บริหารได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง และมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้แก่ผู้ป่วยด้วย
นอกนี้แล้ว นพ.จเด็จ เลขาธิการสปสช. พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลราศีไศล เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สาธารณสุขอำเภอราษีไศล ( Rasisalai Public Health) ที่จัดตั้งขึ้นตามความตั้งใจของ นพ.สมชาย
ภานุมาสวิวัฒน์ ผอ.รพ.ราษีไศล ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการที่ รพ.ราษีไศล ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 35 ปี
ทั้งนี้ นพ.สมชาย ภานุมาสวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราษีไศล กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์นี้ได้รวบรวม การทำงานอันทรงคุณค่า ของอดีตผู้บริหารและศิษย์เก่าผู้ทรงคุณค่าของสาธารณสุขราษีไศล เผยแพร่ในที่สาธารณะ ซึ่งมีเรื่องราวการเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ ผู้บุกเบิกและผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในอดีตเคยเป็นผอ.รพ.ราษีไศล
“ อยากจะทำสิ่งที่ทำให้ผู้คน ไม่”ลืม” สิ่งดีๆที่ พี่รุ่นเก่าได้ สร้างงาน ที่ทรงคุณค่า ไว้กับ รพ.ราษีไศล แห่งนี้ และสร้างสถานที่เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา และสร้างแรงจูงใจ ในการทำงานด้านสาธารณสุข ตามความคิดเห็นส่วนตัว จึงได้มีแนวคิดว่า จัดทำห้องสมุด และเก็บผลงานวิจัยต่างๆ ไว้ที่ห้องสมุดแห่งนี้ ดังนั้น ความฝัน คือ ทำเป็น พิพิธภัณฑ์ เก็บสะสม งานที่มีคุณค่า ทางด้านสาธารณสุข จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ให้เป็นห้องสมุดและวิจัยที่สามารถใช้งานได้จริง และในขณะเดียวกันก็จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีจิตวิญญาณ มีความรู้สึกไปพร้อม ๆ กันด้วย” นพ.สมชายกล่าว