หมอจเด็จ เลขาธิการสปสช. ลงพื้นที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น รับฟังทิศทางการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพ
วันนี้ (13 สิงหาคม2567) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. พร้อมด้วย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 7 และดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ประชุมความร่วมมือทิศทางการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพ ระหว่าง คณะผู้บริหารโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ผศ.คัชรินทร์ ภูนิคม รองผอ.ฝ่ายการแพทย์ ผศ.อาทิตย์ บุญรอด รองผอ. ฝ่ายประกันสุขภาพ ผศ.อธิบดี มีสิงห์ รองผอ. ฝ่ายคุณภาพและบริหารความเสี่ยงรพ. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่ได้ให้ข้อเสนอแนะปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะข้อความกังวลถ้ามีการประกาศใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จะทำให้โรงพยาบาลระดับตติยภูมิมีความแออัด เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยหารือกัน พบว่าเราจะมีมาตรการดำเนินการและขอย้ำว่า 30 บาทและรักษาทุกที่ไม่ได้ส่งเสริมให้ทุกคน มารับบริการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตรงกันข้ามสปสช.จะมีการเพิ่มหน่วยบริการระดับปฐมภูมิมากขึ้น และหน่วยนวัตกรรมใกล้บ้านให้มากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นข้อดีที่เราจะได้มีการพูดคุยหารือกันในรายละเอียดต่อไป
นพ.จเด็จกล่าวว่า ส่วนที่มีการแนะนำในเรื่องยาต่างๆที่อยู่นอกบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องมีการมาพูดคุยกันว่าถ้าเราไม่มีความประสงค์ที่จะให้พี่น้องประชาชนร่วมจ่ายรัฐก็ต้องจ่าย ถ้ามีความจำเป็นจริงๆรัฐก็จะดูแลทำอย่างไรให้ยาเข้าสู่ระบบมากขึ้น ส่วนช่วงรอยต่อที่ยายังไม่เข้าระบบแต่มีความจำเป็นต้องจ่ายยาให้กับผู้ป่วย อันนี้รัฐจะต้องเข้าไปช่วยดู
เลขาธิการสปสช.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี โรคเรื้อรัง ถ้ามันยังไม่จำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ก็ขอให้ไปรพ.ใกล้บ้านหรือปฐมภูมิก่อนเรื่องนี้จะต้องหามาตรการทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าการรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ แต่คงต้องมาดูเรื่องยาบางตัว หากโรงพยาบาลใกล้บ้านไม่มีเราก็คงต้องมาดูและต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ในอนาคตอาจจะต้องมีการสื่อสารกับคนไข้ว่าโรคที่ไม่หนักหรือไม่จำเป็นที่จะต้องมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็สามารถรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ส่วนที่เคยรับบริการแล้วเราคงปฏิเสธไม่ได้แต่คนที่กำลังจะเข้ามาอันนี้เราต้องคงดูอีกครั้งหนึ่ง
“ต้องยอมรับว่าโรงเรียนแพทย์ทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่รับผู้ป่วย แต่ทุกคนกังวลว่าถ้าเราประกาศนโยบายออกไปแล้วแล้วมีผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยหนักเข้ารักษาโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจจะรับไม่ไหวและจะทำให้คนที่ป่วยหนักไม่ได้รับบริการอย่างเต็มที่ ”นพ.จเด็จกล่าวและว่า แม้แต่โรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 400% รพ.ศรีนครินทร์ก็ยังดูแลค่อนข้างเป็นภาระที่หนักมากซึ่งเราคงต้องเข้ามาช่วยดูแลว่าจะทำอย่างไร ขอให้มั่นใจว่าขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมงบประมาณเพิ่มเติม
ด้านศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า การที่สปสช.ลงมาหารือพูคุยแลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนได้ เลือก เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลต่างๆได้ แต่ยังมีความกังวลคนที่จะมารับบริการประชาชนเลือกเข้ามารักษา รพ.มหาวิทยาลัย ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นระดับตติยภูมิหรือโรคที่รักษายาก หากเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ อยากแนะนำว่าควรรักษาโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หากเป็นโรคที่รักษาแล้วไม่หายหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาในเบื้องต้น เกินศักยภาพก็สามารถส่งต่อได้ หากผู้ป่วยไม่หนักหรือรักษาทั่วไปอยากให้รักษาใกล้บ้านใกล้ใจตามระบบ ซึ่งเป็นการรักษาอย่างเหมาะสมไม่ก่อให้เกิด ความแออัดในโรงเรียนแพทย์ได้
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ของมหาลัยขอนแก่นรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองผู้ป่วยนอก 4,000 คนต่อวัน ซึ่งเราก็มีแพทย์ที่มีศักยภาพรักษาได้เพียงพอต่อคนไข้ที่รักษา ตามความจำเป็น อย่างเช่นโรงพยาบาล ศรีนครินทร์ของม.ขอนแก่น รักษาผู้ป่วยมะเร็ง จากโครงการรักษามะเร็งได้ทุกที่ มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ราย เป็น 25,000 ราย ซึ่งเราก็ดูแลอย่างเต็มที่
”สิ่งที่เราอยากให้สปสช. กระทรวงสาธารณสุข คือต้องมาการปรับหรือไม่ก็ยกคุณภาพรพ.ของจังหวัดต่างๆเพื่อรักษาชนิดของมะเร็งใกล้บ้านหรือใกล้เคียงกับโรงเรียนแพทย์ ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล ยังลดค่าใช้จ่าย หากทุกที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องขาดทุนไม่ได้เป็นเป้าหมายหลัก การบริหารโรงพยาบาลหรือการดูแลคนไข้ เป้าหมายหลักคือการทำให้คนไข้หายจากโรค มีคุณภาพชีวิตที่ดี
อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรือยา แนวทางการรักษาของแพทย์มีค่าใช้จ่ายที่สูง โรงพยาบาลก็ให้การรักษาอย่างเต็มที่แต่ก็มีบางอย่าง อยู่นอกเหนือสิทธิการเบิกจ่ายของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีกลาง ประกันสังคม แม้กระทั่งสิทธิบัตรทองก็ตาม อยากให้หน่วยงานเหล่านี้มีการปรับค่ารักษา พยาบาล เพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับวิธีการรักษา สอดคล้องกับที่โรงพยาบาลลงทุนไป ไม่เฉพาะโรงพยาบาลศรีนครินทร์เท่านั้นแต่เป็นโรงพยาบาลของรัฐเกือบทุกแห่ง การร่วมจ่ายทำได้สองวิธี 1.การร่วมจ่ายก่อนเข้ารับการรักษาโรงพยาบาล 2.คนไข้จำเป็นต้องรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักหรือยาตามที่สปสช.กำหนด หากรพ.สามารถอธิบายให้คนไข้ฟังได้ อาจต้องมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม จากค่ารักษาพื้นฐาน ก็จะทำให้คนไข้ได้รับบริการที่เหมาะสมที่สุด
“ ในส่วนนี้เราต้องยอมรับความเป็นจริง หลายคนกังวลในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ชัดเจนว่าการดูแลสุขภาพนอกจากรัฐ ดูแลให้สุขภาพของทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคนทุกครอบครัวก็ต้องมีส่วนร่วม รับผิดชอบสุขภาพของตัวเองด้วย ขอย้ำว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันดูแลและรับผิดชอบ.