สปสช.ร่วมพิธีจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล โดย สรพ. ร่วมกับเขตสุขภาพ ที่ 10 และเยี่ยมชมคลินิกส่งเสริมการมีบุตรยาก ของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี2568
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. ร่วมพิธีลงนามจัดตั้ง ศูนย์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลในเครือข่าย “อุบลมุกศรีโสธรเจริญ” ระหว่างสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และเขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งดูแลครอบคลุมทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชน และกองทัพบก รวมทั้งสิ้น 86 แห่ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี มุกดาหาร ศรีษะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการ สรพ. และ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผอ.สรพ. กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือในพื้นที่เขตสุขภาพต่าง ๆ จะช่วยพัฒนาสถานพยาบาลแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสมต่อทรัพยากรที่แตกต่างกันออกไป ส่งเสริมการศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ ในการพัฒนาสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยคัดเลือกสถานพยาบาลที่มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมที่จะพัฒนาบุคลากร อาทิ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงเรียนแพทย์ ฯลฯ เพื่อเป็นต้นแบบการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสถานพยาบาลขนาดเล็กอื่น ๆ ในการพัฒนาการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานได้อย่างเท่าเทียม
ภายหลังร่วมลงนามนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช.พร้อมนางมลุลี แสนใจ ผอ.สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่เยี่ยมชมคลินิกส่งเสริมการเกิด(มีบุตรยาก) รพ.สรรพสิทธิประสงค์
เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า จากมติบอร์ดสปสช. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาเห็นชอบให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจากการลงพื้นที่พบว่า ระดับการรักษาผู้มีบุตรยาก ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ให้การรักษาโรคอื่นๆที่อาจเป็นอุปสรรค ต่อการมีบุตรยาก กระทั่งมีการฉีดน้ำเชื้อเข้าไป สุดท้ายคือการทำเด็กหลอดแก้ว นั้น รพ.สรรพสิทธิประสงค์มีความพร้อม ที่ให้บริการทางด้านนี้ โดยมติบอร์ดสปสช. เป็นสตรีกลุ่มเป้าหมายอายุ30-40ปี ที่มีภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ จึงมาดูระบบการให้บริการเป็นอย่างไร สามารถรองรับ ได้เพียงพอหรือไม่ ทำให้ต้องมาดูสถานการณ์จริงว่ามีความเป็นไปได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นอกจากดูความสามารถแล้วก็ต้องดูความพร้อมของโรงพยาบาล โดยที่รพ.สรรพสิทธิประสงค์ มีการลงทุนคลินิกผู้มีบุตรยากแห่งนี้ไป 20 กว่าล้านบาท มีหมอที่ประจำศูนย์ถึง 4 คน มีตัวอย่างความสำเร็จ
“ในวันนี้ มารับฟังข้อมูลนั้น มีคนเข้ามารับบริการกว่า 400 คน มีการคัดกรองเด็กหลอดแก้วถึง 19 คน ตั้งครรภ์แล้ว 2 คน ซึ่งจะเป็นแนวทาง ในการดำเนินการ ที่จะเริ่มในปีงบประมาณ 2568 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างเตรียมระบบรองรับและจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่าย ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ในวันที่1 ต.ค. 2567” เลขาธิการสปสช.กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อดูปัญหาและเตรียมความพร้อม การประกาศให้ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองจะสามารถเข้ามารับบริการ ซึ่งรพ.สรรพสิทธิประสงค์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีความพร้อม. เป็นรพ.แม่ข่าย และสามารถไปที่โรงพยาบาลเครือข่ายให้บริการเช่นโรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลจังหวัดเป็นต้น โรงพยาบาลเพื่อออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไขให้ชัดเจนและถูกต้อง แม้แต่เรื่องค่าใช้จ่ายก็ตาม เราอาจมีการปรับปรุงการจ่ายให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ด้านพญ.ปรานี ศาสตราธรรม หัวหน้าศูนย์คลินิกผู้มีบุตรยาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ กล่าวว่า จะต้องมีการประเมินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ เพราะเราเป็นศูนย์เปิดใหม่ หากมีผู้มาใช้บริการมากขึ้นค่าใช้จ่ายในการให้บริการก็จะถูกลง และอัตราการมีบุตรยากเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันแต่งงานกันช้า ปัญหาเรื่องการเข้าใจผิด คิดว่าผู้หญิงยังมีประจำเดือนอยู่ก็สามารถมีลูกได้ เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้นการมีบุตร ก็จะยากและมีอัตราเพิ่มมากขึ้น
“สิ่งที่เราทำอยู่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแต่ต้นเหตุหลักๆก็คือ อยากให้มีความเข้าใจและหากคู่สามีภรรยาต้องการมีบุตรควรเตรียมวางแผนในการมีบุตร ตั้งแต่แรก หากตั้งใจที่จะมีบุตรอายุน้อยๆจะดีกว่า โอกาสตั้งครรภ์จะสูงกว่า ปัญหาก็มีไม่มากและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากด้วย ปัจจุบันผู้หญิงมีอายุ 20 25 ปีก็มีปัญหาเรื่องประจำเดือน มีปัญหามดลูก ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบมีสองสาเหตุคือ1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นช็อกโกแลตซีส และ2. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง คนไข้กลุ่มนี้จะมีไข่เม็ดเล็กๆ อยู่เต็มไปหมดและไข่ไม่ค่อยตก โอกาสท้องมีเปอร์เซ็นต์ต่ำ กลุ่มที่สองถ้าเราแก้ปัญหาตรงจุดโดยอาจจะให้ยากระตุ้นไข่ ให้กินธรรมดาหรือปรับพฤติกรรมการลดน้ำหนัก เข้าสู่กระบวนการรักษาโอกาสท้องก็มี ถ้ามีประจำเดือนผิดปกติให้รีบมาปรึกษาหรือรักษา “หัวหน้าศูนย์คลินิกผู้มีบุตรยาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์กล่าว
และช่วงบ่ายคณะฯเยี่ยม “คลินิกเวชกรรม ดร.จู ” ซึ่งมี พญ.อุทัยวรรณ จันทร์รุ่งโรจน์ เป็นเจ้าของคลินิก อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่เตรียมพร้อมเข้าร่วมโครงการฯหน่วยนวัตกรรม(คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น) ในระยะที่4 ให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือ 30บาทรักษาทุกที่.