สปสช. ปลดล็อก ให้คลินิกกายภาพ ที่เข้าร่วมโครงการ30บาทรักษาทุกที่ เปิดรับรักษาผู้ป่วยได้เองเป็นวันแรก ขณะที่รองเลขาฯสปสช. ลงพื้นที่พังงา ชื่นชมคลินิกเอกชน ร่วมจัดบริการ ช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล เข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น
สปสช.ชื่นชมคลินิกกายภาพ จ.พังงา ช่วยรักษาผู้ป่วยห่างไกล ดูแลคนไข้สิทธิบัตรทองต่อเนื่อง กลับมาเดินได้
วันที่ 28 มิถุนายน 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นายธงชัย สิทธิยุโณ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานีลงพื้นที่เยี่ยมชมการให้บริการของ พิสมัยคลินิกกายภาพบำบัด ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ที่เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้บริการใน 4 กลุ่มโรค 1.ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง (สโตรก) 2.ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก 3.ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ และ4.ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บโดยมี นักกายภาพบำบัด(กภ.)พิสมัย บัวทอง เจ้าของคลินิก และ ภก.พรศักดิ์ มธุรส รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา สรุปภาพรวมของคลินิกกายภาพบำบัดในจ.พังงา
กภ.พิสมัย บัวทอง เจ้าของคลินิก เล่าว่า หลังเข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เฟส2 ก็มีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง80% ส่วนใหญ่ลงไปทำกายภาพให้ที่บ้าน90% เพราะผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ บ้านอยู่ไกล ไม่มีรถ ไม่ญาติยกขึ้นรถหรือช่วยพาไปโรงพยาบาล ซึ่งหากรักษาไม่ทันในช่วงเวลา 6 เดือน ก็อาจพิการถาวร อย่างผู้ป่วยสโตรกในหมู่บ้านปากอ่าวพังงารายนี้ อยู่ห่างจากโรงพยาบาลตะกั่วทุ่งกว่า 20 กิโลเมตร คลินิกเข้ามาช่วยทำกายภาพให้ที่บ้าน จนครบ20ครั้งตามสิทธิ์บัตรทอง วันนี้เขาอาการดีขึ้นจนหายเกือบปกติแล้ว
ด้านภก.พรศักดิ์ มธุรส รองนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงามีหน่วยนวัตกรรมที่เข้าร่วมประกอบด้วย ร้านยา คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิกการแพทย์ รวม 30 แห่ง ส่วนคลินิกกายภาพมีอยู่ 3 แห่งเป็นการนำร่องของจังหวัด ซึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ติดบ้าน ติดเตียง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะมีนักกายภาพเข้าไปให้บริการถึงบ้าน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้พวกเขาเข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งช่วยลดความแออัดในรพ. ด้วย การที่จ.พังงามีหน่วยนวัตกรรมถึง30แห่งนี้ส่งผลดีให้กับชาวบ้านอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านยา หรือคลินิกกายภาพ ก็ตามหากคิดเป็นเชิงธุระกิจทำให้พวกเขามีรายรับเพิ่มมากขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้คลินิกเอกชนเข้าร่วมโครงการกันมากๆและหากติดปัญหาใดก็จะเข้าไปช่วยเหลือทำความเข้าใจ อีกทั้งสสจ.พังงามีเป้าหมายจะเพิ่มหน่วยนวัตกรรมมากขึ้น เพราะเห็นผลดีที่ประชาชนจะได้รับ
ด้านทพ.อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การเพิ่มหน่วยนวัตกรรมโดยเชิญคลินิกเอกชน เข้ามาร่วมจัดบริการ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น โดยวันนี้เป็นวันแรกที่ สปสช.เริ่มปลดล็อก ให้คลินิกกายภาพบำบัด เปิดรับรักษาผู้ป่วยได้เอง โดยไม่ต้องส่งตัวจากโรงพยาบาล เชื่อว่าตรงนี้จะทำให้คลินิกมั่นใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น
“เอกชนมีศักยภาพมากๆ ภาครัฐไม่ต้องไปลงทุนให้เขา เขาลงทุนอยู่แล้ว แต่การเชิญให้เขาเข้ามาให้บริการปชช. ทุกวิชาชีพต้องการดูแลปชช.อยู่แล้ว นี่จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนได้ดูแลปชช.ตามวิชาชีพที่เรียนมา” รองเลขาธิการสปสช.กล่าว
จากนั้นคณะเดินทางไปเยี่ยมบ้านของ บังแระ หรือนายมานพ อุดม อายุ 49 ปี ป่วยเป็นเส้นเลือดสมองตีบ แขนขาด้านขวาอ่อนแรงไม่สามารถขยับได้ และเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง อยู่ที่หมู่บ้านเสม็ดนางชี ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พร้อม นักกายภาพบำบัด(กภ.)พิสมัย บัวทอง เจ้าของคลินิกฯ ที่เข้าไปให้บริการผู้ป่วยถึงบ้าน จากเดิมติดเตียงเดินไม่ได้จนปัจจุบันเริ่มเดินได้ขยับแขนขาขวาได้มาก สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแม้จะไม่ปกติ100%ก็ตาม
ด้านบังแระ กล่าวว่า ขอขอบคุณหน่วยงานรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือให้ตนเองมีชีวิตดีขึ้น รวมทั้งไม่ต้องเสียเงินในการรักษา “ถ้าไม่มีโครงการดีๆแบบนี้ บอกเลยว่า ไม่ตายก็พิการ หรือติดเตียง“ ก่อนที่ตนจะเป็นอัมพฤษก ครึ่งซีกขวาขยับแขน ขาไม่ได้ มีอาชีพรับจ้างพายเรือให้นักท่องเที่ยว และเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว แต่ด้วยการปล่อยปะละเลยไม่ดูแลตัวเองจนทำให้เกือบเอาชีวิตไม่รอด ประกอบกับล้มในห้องน้ำ นอนติดเตียงอยู่2วัน ลูกชายพาส่งรพ.เพราะตนเริ่มไม่ไหว พอรักษาดีขึ้นกลับมารักษาตัวที่บ้าน หมอบอกว่าต้องทำกายภาพบำบัด20 ครั้ง ซึ่งแรกๆก็ไปรพ. แต่ลูกชายต้องเสียเวลาทำงาน ประกอบกับมีคลินิกกายภาพเข้ามาบริการถึงบ้านทำให้สะดวกมากขึ้น และรู้สึกดีใจมาก อยากบอกเพื่อนๆหรือคนที่เป็นแบบตนสิ่งสำคัญคือ ขอให้สู้ ใจสู้อย่างเดียวแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น