“จุฬาฯ เปิดหลักสูตรควบข้าม 2 ปริญญา ภายใน 6 ปี ป.ตรี ทันตแพทยศาสตร์ และ ป.โท วิศวกรรมชีวเวช” เริ่มรับปีการศึกษา2567 หลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ ล่าสุดมีนิสิตทันตแพทย์สนใจเรียนแล้ว 5 ราย ตอบโจทย์ทิศทางของโลกที่เปลี่ยนแปลง
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ที่อาคารวิศวฯ 100 ปี ผศ.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี ด้านบริหารทั่วไปและศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวและศักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมี ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทย์ฯ และศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวฯ ร่วมลงนาม ในการจัดทำหลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ 2 ปริญญา ภายใน 6 ปี เพิ่มพูนศักยภาพให้บัณฑิต
ผศ.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีฯ กล่าวว่า เมื่อสถาบันการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษาจากเดิม ที่เน้นการสร้างหลักสูตรหรือจัดการเรียนการสอนเฉพาะศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบใหม่ที่นอกจากจะเสริมองค์ความรู้และทักษะเฉพาะทางวิชาการ ยังสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความถนัดของตนเองและเสริมสร้าง พัฒนาศักยภาพอื่นเพิ่มเติมผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นองค์ความรู้ทั้งในทฤษฎีเชิงลึกและทั้งในเชิงประยุกต์ที่มีความล้ำสมัย สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ระบุถึงทิศทางของสถาบันการศึกษา และเห็นว่า “หลักสูตรควบข้ามระดับข้ามศาสตร์” เป็นตัวอย่างแพลตฟอร์มการศึกษารูปแบบใหม่ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์เริ่มดำเนินการครั้งแรกร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ในโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา ป.ตรี แพทย์ – ป.โท วิศวกรรมชีวเวช และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการศึกษาควบข้ามระดับข้ามศาสตร์ให้ขยายผลไปยังคณะและนิสิตกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความสนใจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนนำความเข้มแข็งจากภายในของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Growth from within) ต่อยอดไปเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อสังคม
นิสิตสามารถสมัครเรียนหลักสูตร ป.โท สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ได้เมื่อเรียนรายวิชาในหลักสูตร ป.ตรี ทันตแพทย์ ครบ 120 หน่วยกิต(จบชั้นปี3) ซึ่งทำให้มีเวลาเรียนรู้และวางแผนชีวิตในช่วงชั้นปีก่อนสมัครเรียนป.โท โดยจะรีบปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ปีละไม่เกิน10 คนโดยบางส่วนในจำนวนนี้จะมีทุนสบับสนุนการศึกษานะดีบ ป.โทให้นิสิต
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ระบุว่า หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่นิสิตจะได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตร่วมกับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช ภายในระยะเวลาการศึกษา 6 ปี โดยในงานวิจัยของนิสิตจะมุ่งเน้นในการพัฒนาองค์ความรู้และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางวิศวกรรม เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การพิมพ์ 3 มิติด้วยวัสดุชีวภาพ (3D Bioprinting) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ทางทันตแพทยศาสตร์ บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้จะสามารถเป็นทันตแพทย์นักวิชาการ นักวิจัยชั้นน้ำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาทันตแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวชที่สามารถสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพช่องปากได้
หลักสูตรปริญญาตรีทันตแพทยศาสตร์ (ท.บ.) ควบข้ามระดับข้ามศาสตร์กับหลักสูตรปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) ผู้เรียนจะได้รับ 2 ปริญญา ภายในเวลา 6 ปี ถูกออกแบบการจัดการเรียนการสอนรองรับให้นิสิตสามารถเลือกเรียนรายวิชาเสริมองค์ความรู้และสมรรถนะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ตามช่วงชั้นปีที่เหมาะสมในระหว่างศึกษาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ โดยมีคณาจารย์จากทั้งสองคณะที่พร้อมให้คำแนะนำหัวข้อวิจัยและการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อให้นิสิตสามารถสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์และระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด และทั้งสองคณะยังพร้อมสนับสนุนทุนการศึกษา การทำวิจัยให้กับนิสิตที่มีศักยภาพ เพื่อผลิตบัณฑิตได้ตามเป้าประสงค์
พร้อมกันนี้ได้พาเยี่ยมชมศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ชั้น 10 อาคารวิศวฯ100 ปีด้วย