เซ็นทรัลแล็บไทย หนุนภาครัฐขับเคลื่อนการสร้างมาตรฐานสินค้า พร้อม“เปิดศูนย์บริการครบวงจรขึ้นทะเบียนอาหาร (อย.) อย่างเป็นทางการ“ โอกาสครบรอบ 21 ปี
บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ขยายงานให้บริการด้านการขอคำแนะนำในการขอขึ้นทะเบียนอาหาร (อย.) โดยเปิดศูนย์บริการครบวงจรขึ้นทะเบียนอาหาร (อย.) หรือ FDA Produce Register – One Stop Service Center เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ครบรอบ 21 ปี ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 เพื่ออำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำผู้ประกอบการสินค้าประเภทอาหารในการขอเลขสารบบ 13 หลัก บนเครื่องหมาย อย.
นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการทางห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่จำเป็นต้องมีเครื่องหมาย อย.บนผลิตภัณฑ์ เข้ามาขอคำแนะนำกับทางเซ็นทรัลแล็บอย่างต่อเนื่อง จึงเล็งเห็นว่า การขยายงานบริการให้คำแนะนำดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียน อย.ได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นการสนับสนุนงานภาครัฐ ให้มีความสะดวกและรวดเร็วได้ ด้วยศักยภาพของแล็บที่มีสาขาครอบคลุมในทุกภูมิภาค จะช่วยทำให้งานบริการเข้าถึงประชาชนและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ภายในงานได้จัดเสวนาในหัวข้อ “กว่าจะได้เลข 13 หลัก อย. ทำอย่างไร ?” ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณนฤมล ฉัตรสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) , คุณวัลลี ใจเย็น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ จ.จันทบุรี และ คุณคณิต ปรีดาภรณ์ภากร รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการ และ ในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์ฯ ให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมฟังการเสวนามากกว่า 70 ราย
คุณนฤมล ฉัตรสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นหน่วยงานคุ้มความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะบรรจุที่ปิดผนึกกันการหก โดยมีระบบการกำกับดูแลอาหารก่อนออกสู่ตลาด ด้วยการขอเลขสารบบอาหาร หรือที่เรียกว่า เลข อย.เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวได้ดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้อง การดำเนินดังกล่าว ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่
1 เลขสถานที่ผลิต/ นำเข้าอาหาร ในส่วนสถานที่ผลิตอาหารไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ จะได้รับการตรวจตามหลักเกณฑ์กรรมวิธีการผลิตที่ดี ( GMP 420) เมื่อผ่านขั้นตอนนี้จะได้รับเลขสถานที่ 8 หลัก
2. เลขผลิตภัณฑ์ ( เลข อย.)
ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนประเมินสูตรส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิต คุณภาพหรือมาตรฐาน และฉลากอาหาร ตามลำดับความเสี่ยงอาหาร กรณีอาหารเสี่ยงต่ำ เช่น ขนมขบเคี้ยว เพื่อการอำนวยความสะดวกและให้เกิดความรวดเร็วต่อธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถประเมินข้อมูลข้างต้นได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย หรือที่เรียกว่า สบ.7 เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้จะได้รับเลข 13 และนำไปแสดงในเครื่องหมาย อย.พร้อมจัดทำฉลากอาหารตามกม.ต่อไป
ด้านคุณวัลลี ใจเย็น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ ระบุว่า การขึ้นทะเบียน อย. ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากการจะนำสินค้าไปขายตามร้านค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะในร้านค้าชั้นนำ มีข้อกำหนดหลักในการพิจารณารับซื้อสินค้า คือการแสดงเครื่องหมาย อย. และ ฉลากโภชนาการ ดังนั้น การขึ้นทะเบียน อย. จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมาการยอมรับว่าการขอเลขสารบบ 13 หลัก เป็นเรื่องยาก เพราะมีรายละเอียด และ เอกสารจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการที่กำลังจะขึ้นทะเบียน ต้องศึกษาข้อกฎหมาย และเตรียมเอกสารให้ดี
ด้านคุณคณิต ปรีดาภรณ์ภากร รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการ ในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์ฯ ระบุว่า บทบาทหน้าที่สำคัญของเซ็นทรัลแล็บไทย คือ การให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ ถึงขั้นตอน กระบวนการตรวจ และเอกสารต่างๆที่ผู้ประกอบการต้องมี ไปจนถึงขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียนและได้มาซึ่งเลข อย. ตลอดระยะเวลา 21 ปี เซ็นทรัลแล็บไทยทำงานด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้า มาแล้วกว่า 3 แสนรายต่อปีรวมถึง การจัดทำฉลากโภชนาการ ทั้งนี้ การเปิดศูนย์บริการครบวงจรฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการขอขึ้นทะเบียน ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ภายใต้แนวคิด “สะดวก ครบ จบที่เดียว” พร้อมยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ในงานยังมีออกบูทให้คำแนะนำ การตรวจฉลากโภชนาการรูปแบบใหม่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ 445 ที่จะกำหนดใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 , การตรวจอายุผลิตภัณฑ์ , การตรวจเชื้อก่อโรค และสารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบเครื่องมือ การตรวจประเมินและรับรองระบบ GAP,GMP HACCP และการอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นบริการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินการจัดทำสถานที่ผลิต จัดเก็บ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เอื้อต่อการขอขึ้นทะเบียน อย. ต่อไปในอนาคต