ปั้น!เพชรบุรีปรับรสหวาน ทั้งจังหวัด หนุน น้ำตาลโตนด รับกระแสสุขภาพ สร้างรายได้ธุรกิจท่องเที่ยว
ขับเคลื่อน เพชรบุรีอ่อนหวาน รณรงค์ลดกินหวาน ทั้งจังหวัดอย่างเป็นระบบ ดัน น้ำตาลโตนด เมืองเพชร สินค้า GI เป็นส่วนประกอบหลักเมนูขนมหวานน้อย ปรัยขนาดไซส์เล็ก ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ และช่วยหนุนสู่เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
ชื่อเสียงของ ขนมหวานเมืองเพชร และน้ำตาลโตนด ถือเป็นที่รู้จักกันดีของ จ.เพชรบุรี ที่หากใครมาแล้วไม่ได้ชิมก็เหมือนมาไม่ถึง การขับเคลื่อนโครงการ เพชรบุรีอ่อนหวาน รณรงค์ลดบริโภคหวานทั้งจังหวัด จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนภาพจำความหวานที่อยู่คู่กับเมืองเพชรบุรีไปอย่างสิ้นเชิง
ปัจจุบัน กระแสความตื่นตัวเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะ อาหารการกิน ถือเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดโรค NCDs เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องขนมหวานอย่างเพชรบุรีเองจึงถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการขับเคลื่อนการลดบริโภคหวานขึ้น
ด้วยความร่วมมือจาก เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายลดการบริโภคหวาน จ.เพชรบุรี ทำงานไปพร้อมกับทางหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัด ทั้งการจัดกิจกรรมอ่อนหวานในพื้นที่ เพื่อลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มรสหวานในทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ นอกจากนั้น ยังมีการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร หรือการรณรงค์ให้คนเพชรบริโภคอาหารหวานน้อยลงให้กลายเป็น “เพชรบุรีโมเดล” ในที่สุด
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า จ.เพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบโดยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“การขับเคลื่อนที่เห็นความชัดเจน คือ การมีหน่วยย่อยที่เข้าถึงพื้นที่อย่างคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือราชการ หนึ่งในโรงเรียนตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ หนองหญ้าปล้องวิทยา ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การผลิตและระบบอาหาร ภาครัฐอย่าง รพ.พระจอมเกล้า ที่มุ่งเน้นการดูแลการบริโภคอาหารอของทั้งบุคลาการ และคนไข้ โดยมีโครงการผูกปิ่นโตถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพื้นที่อื่นๆ ”
ขณะเดียวกัน การรณรงค์ให้บริโภคผัก และผลไม้พื้นถิ่นตามฤดูกาลก็เป็นอีกหนึ่งแนวทาง เพราะ จ.เพชรบุรี มีแหล่งเกษตรกรรมที่ดี คนเพชรเองก็มีวิธีบริโภค และการแปรรูปผลไม้ที่หลากหลาย โดยมีการปรับสูตรให้หวานน้อยลง ลดขนาดผลิตภัณฑ์ขนมหวาน พร้อมไปกับกับการพยายามพัฒนาน้ำตาลโตนดอินทรีย์ และนำมาใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายในขนมหวานเมืองเพชรด้วย
ณัฎฐชัย นำพูนสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เล่าถึงการขับเคลื่อนนโยบายเพชรบุรีอ่อนหวานว่า จ.เพชรบุรี ได้ชื่อว่าเป็นเมืองขนมหวาน ที่ถูกหยิบไปเป็นของฝากเสมอ แต่ก็มักจะถูกถามเรื่องการกินขนมหวานมากอาจกระทบต่อสุขภาพได้ จังหวัดจึงขานรับแนวคิด ขนมหวานน้อย ให้คนเมืองเพชร หรือคนที่มาเที่ยวได้มีความสุข และรับประทานอาหารอร่อย มีสุขภาพที่ดี
“เราต้องการยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งอาหารและขนมภายในจังหวัดก็ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่ง จังหวัดจึงได้กลับมาทบทวนเรื่อง น้ำตาลโตนด ผลิตภัณฑ์ GI ของเพชรบุรี ที่มีจุดเด่น ให้ความหวาน แต่ร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึม ไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน หรือความดันมาก ต่างจากน้ำตาลประเภทอื่นที่จะดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง”
ด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง เทศบาลเมืองเพชรบุรี ขานรับนโยบายอ่อนหวานซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดีด้วยวิถีสุขภาวัฒน์(Healthy Cities Model) โดยนายถนอมศักดิ์ มากชุมโค ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เทศบาลเมืองเพชรบุรี เปิดเผยว่าสุขภาวัฒน์ ถือ วิถีชีวิตสุขภาพดีแบบองค์รวมทั้งทางกาย จิต ปัญญาสังคม โดยนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมมาบูรณาการอย่างสมดุล และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามแนวคิด ประชาชนสุขภาพดีเศรษฐกิจสุขภาพ สังคมเอื้อต่อการมีสุขภาพดี สถานที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีและสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพดีด้วยแนวคิด 9D ได้แก่ กินดี อยู่ดีอารมณ์ดี สติปัญญาดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี ระบบสุขภาพดีเศรษฐกิจดีและคุณธรรมดี
เราเป็นเทศบาลเมือง ในทุกๆ เทศบาลเมืองมีภาระหน้า เรามีหน่วยบริการสาธารณสุข มีหน่วยบริการปฐมภูมิ ยกระดับขึ้นมามากกว่าอปท.ขนาดเล็ก เราคือการทำให้ชาวบ้านสุขถภาพดี อะไรก็ตามที่ชาวบานมีสุขถาพที่ดีเราก็ทำเองได้ มีอสม.โดยตรง แต่ถ้าท้องถิ่นจะขึ้นอยู่กับ รพ.สต. เรามีพยาบาลวิชาชีพ มีทันตแพทย์ในการขับเคลื่อนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องรอนโยบายจากกระทรวง มี Health station ให้บริการสุขภาพ เราดูแลตามบริบทพื้นที่จริงๆ
นอกจากนี้เราเปลี่ยนแนวคิดการทำงานภาคสาธารณสุข ที่เอาโรคเป็นฐาน เอา รพ.เป็นศูนย์ มาเป็น เอาพื้นที่เป็นฐาน เอาประชาชนหรือชุมชนเป็นศูนย์กลาง ไม่มีการกำหนดแผนใดแผนหนึ่งต้องใช้เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งเรามีทั้งหมด 17 ชุมชนอาจจะมีวิธีการไม่เหมือนกันเลย แต่เรามีกรอบทำงานและเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน
สำหรับผู้ผลิตขนมอย่าง ประวิทย์ เครือทรัพย์ จากร้าน ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ บอกว่า ขนมหวานถือเป็นของดีคู่เพชรบุรีมาโดยตลอด เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี วัตถุดิบดี มีการส่งต่อมรดกภูมิปัญญากันมารุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะสูตรแม่ครัวงานวัด ทำให้คนเพชรบุรีมีเครือข่ายทำขนมเยอะ โดยทางร้านเองก็พยายามสืบทอด ต่อยอดขนมหวานที่มีมาแต่ดั้งเดิมให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
“อย่างขนมหม้อแกงเรามีการพัฒนาให้มีรสชาติที่หลากหลาย รูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไป วันนี้ มีรสมาตรฐาน 6 รส คือ เผือกหอม กล้วยหอมทอง ถัวทอง ฟักทอง เมล่อน ทุเรียน สาระสำคัญของเรา ก็คือ ลดหวาน ทานแต่พอดี ตามโจทย์ของคนรุ่นใหม่ที่อยากทานหมดภายในครั้งเดียว และมีรสชาติให้เลือกหลากหลาย ความเห็นเหล่านี้เราจึงนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นขนมหม้อแกงกระปุก”
การปรับลดขนาดผลิตภัณฑ์ ลดหวาน และเพิ่มความหลากหลายของรสชาติทำให้กระแสตอบรับของขนมไทยดีขึ้นจาก ตลาดคนรักสุขภาพ และตลาดออนไลน์ นอกจากขนมหม้อแกงแล้ว ทางร้านก็อยู่ระหว่างพัฒนา ขนมไทยหวานน้อย ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทองหยอด ทองหยิบ หรือ ฝอยทอง ที่ประวิทย์ยอมรับว่า ยังเป็นความท้าทายของร้านขนมอยู่
“อย่างฝอยทองถ้าเติมส่วนผสมน้ำตาลไม่ได้สัดส่วนก็จะไม่เป็นเส้น และขาดง่าย ส่วนทองหยอด ลูกอาจจะไม่แน่น เนื้อสัมผัสจะเละ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์” เขาบอก
ด้าน จุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ เจ้าของแบรนด์สุคันธา ข้าวตังสายสุขภาพ บอกว่า ขนมของทางร้าน เป็นสูตรดั้งเดิมที่ทำมากว่า 30 ปี โดยใช้น้ำตาลโตนดเมืองเพชรมาปรุงรส ไม่มีการใส่ผงชูรส สารปรุงแต่ง หรือสารกันบูด เพราะอยากให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี
“เวลาที่ไปออกร้านมักจะเจอคำถามว่า หวานไหม จริงๆ สูตรดั้งเดิมต้องหวาน แต่ขนมเราหวานน้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นหม้อแกงจะเน้นเลยว่า หวานน้อย เราอยากให้มีแนวคิดว่าทานยังไงให้ดีต่อสุขภาพ ทางร้านจึงน้ำตาลโตนดแท้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่ใส่แป้ง แต่จะใส่เผือกแทน เพราะเผือกก็เป็นแป้งชนิดหนึ่ง แต่เป็นคาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อนที่ดีต่อสุขภาพ
“รวมถึงเรามีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ไม่ปรุงแต่งเยอะ และลดไซต์ลงให้พอสำหรับทานคนเดียวแต่ยังคงเป็นขนมไทยสูตรดั้งเดิมที่ยังคงความละเมียดละไมในการปรุง เพื่อเป็นขนมหวานดีต่อสุขภาพแต่ยังคงความอร่อย”
เพชรบุรีอ่อนหวาน จึงถือเป็นการพลิกโฉม จ.เพชรบุรี เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
ที่ถึงแม้ ขนมหวานเมืองเพชร จะหวานน้อยลง แต่ยังคงความอร่อยไว้เหมือนเดิม