สสว.จับมือ สอวช. แถลงเปิดตัว “โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG”ติดอาวุธความรู้ ยกระดับผู้ประกอบการ 1,000 รายทั่วประเทศ และสร้างเกณฑ์ SME BCG ให้แข่งขันและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กทม. นายวีระพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ร่วมกับ นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) แถลงความร่วมมือ “เปิดตัวโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยการแข่งขันเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนมากขึ้น หรือ BCG(BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY)”
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปรับใช้ BCG Economy Model เข้าไปช่วยตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก”
ผอ.สสว. เผยอีกว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน MSME ในด้านต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG โดยผ่านกลไกการพัฒนา BCG ไปสู่ผู้ประกอบการ MSME ให้มีความรู้ความเข้าใจ ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้คลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา รวมถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ 2.สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG และ3.การยกระดับรายได้ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ผ่านการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าให้มีชั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากล ทั้งยังสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ผ่านการสร้างนักพัฒนา BCG อีกด้วย
“การที่สสว.ร่วมกับ สอวช.จะเป็นเรื่องการนำองค์ความรู้ กระบวนการคิด และวิธีการที่จะเตรียมตัวเข้าสู่ Global Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และนี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 1,000 ราย และเรายังคาดหวังว่าจะมีจำนวนหนึ่งในพันรายจะก้าวข้ามเกินคำว่าSME คือ เรากำลังทำให้ขนาดผู้ประกอบการจากไซด์เอ็ม เป็นไซด์แอล หรือ เอส โตเป็น เอ็ม โดยใช้แรงผลัก BCG เป็นกลไกในการขับเคลื่อน”นายวีระพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า การจะดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จนั้น สสว. ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ BCG ในมิติของ MSME สำหรับโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) “การส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการ MSME เข้าใจแนวคิด BCG และนำไปปรับใช้กับธุรกิจให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเครื่องมือการสนับสนุนจาก สสว. ภาครัฐ มาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และการสร้างระบบนิเวศต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ MSME และก้าวข้ามมาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) ในตลาดโลกได้” นายวีระพงศ์ กล่าว
ด้านนายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงการร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ว่า สอวช. ใช้จุดแข็งด้วยการต่อยอดคือการให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงนวัตกรรมให้ได้และบทบาทของ สสว. และ สอวช. เพื่อขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ โดยเฉพาะ MSME ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมมาเป็นฐานในการขับเคลื่อน BCG ที่จะสามารถทำให้ทั้ง 3 ส่วนที่ประกอบใน BCG มีการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน โดยเราคาดหวังว่าจะให้ถึง 1,000 รายหรือ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย โดยเริ่มที่ 50 ล้านบาทถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งตนเชื่อว่านวัตกรรมจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการบางรายเกิน 1,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ
ผู้อำนวยการ สอวช. เผยว่า “สอวช. มีแผนที่จะขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG และนวัตกรรม ซึ่งโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างระบบการสนับสนุนนวัตกรรม และการสนับสนุน MSME และการสร้างตระหนักรู้ของผู้ประกอบการจากโครงการนี้ จะเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยแนวคิด BCG เกิดการนำไปปฏิบัติจริงในการพัฒนาธุรกิจตนเองต่อไป รวมถึงเกณฑ์ตัวชี้วัด BCG ที่เกิดขึ้นจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรม BCG และการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”
นายกิติพงค์ ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมา สอวช. ได้ดำเนินการด้านขับเคลื่อนเชิงนโยบายโดยใช้นวัตกรรมมาเป็นฐานในการขับเคลื่อน BCG หลายประเด็น โดยเฉพาะการออกแบบเชิงระบบสำหรับงานวิจัย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่คือการเขียนแผนงานการวิจัยในโครงการนี้ สอวช. จะช่วยให้ความรู้การทำวิจัยนโยบายร่วมกับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) เพื่อออกแบบการใช้ตัวชี้วัด กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนา ซึ่งการทำงานจะออกแบบให้ครอบคลุมทั้งการพัฒนาระบบกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ การดำเนินงาน BCG พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวรับโอกาสได้
นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาระบบนิเวศ BCG สำหรับ MSME สู่การแข่งขันที่ยั่งยืน” โดยมีตัวแทนผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบนิเวศ BCG กับการปรับเปลี่ยนธุรกิจ MSME โดย นางสาวกาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. การถ่ายทอดประสบการณ์การขับเคลื่อนเครือข่ายด้วย BCG โดย นายปริวรรตน์ คณากัมพลสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือจะเป็น BCG ของ MSME คือห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม โดย นางสาวสวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และตลาดทุนกับการขับเคลื่อน BCG โดย นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นางสาวศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช.