เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2568 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ รวม 9 หน่วยงาน ที่รวมตัวจัดตั้งในนาม “ภาคีอาสา”(Area Strengthening Alliance -ASA) หรือคณะกรรมการภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (ภสพ.) ร่วมจัดเวทีสานพลังภาคีอาสา“เชียงรายล้านนาแห่งความสุข”เพื่อเชื่อมสานพลังบูรณาการกลไกทุกภาคส่วน สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารจากหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก 9 หน่วยงานประกอบด้วย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ผู้บริหารและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ผู้นำศาสนา ผู้แทนชาติพันธุ์และผู้แทนเครือข่ายอาสาทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงราย รวมกว่า 180 คน ณ หอประชุมใหญ่ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีการระดมความเห็นและประกาศเจตนารมณ์ทำพันธะสัญญาร่วมกันเพื่อสร้างเชียงราย ล้านนาเมืองแห่งความสุข
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เวทีนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการแสดงพลังความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย 9 หน่วยงานหลัก และชุมชนในพื้นที่ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือให้จังหวัดเชียงรายกลายเป็นต้นแบบของจังหวัดเข้มแข็ง ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีส่วนร่วมและการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
สปสช. ในฐานะกลไกหลักในการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้บทบาทและภารกิจของ สปสช. ซึ่งที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่ครอบคลุมคนไทยกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ และพร้อมกันนี้ ยังได้มีการขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่าน 3 กองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น ที่วันนี้กลายเป็นกลไกสำคัญ ในการส่งเสริมบทบาทชุมชนให้สามารถจัดการสุขภาพตนเองได้ มีการสนับสนุนการเข้าถึงบริการสุขภาพจำเป็น
สำหรับกองทุนสุขภาพในระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย 1.กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ซึ่งปัจจุบันมีท้องถิ่นที่ร่วมจัดตั้งแล้วจำนวน 7,760 แห่ง 2.กองทุนบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (Long Term Care : LTC) หรือที่เรียกกันว่า กองทุน LTC มีท้องถิ่นร่วมจัดตั้งแล้วจำนวน 7,423 แห่ง และ 3.กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมดำเนินการแล้วจำนวน 72 แห่ง จาก 76 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2568) ที่รวมเป็นพลัง ประกอบกับกลไกเชิงนโยบายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งในระดับชุมชน ที่สำคัญคือการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานยุทธศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า “นี่คือตัวอย่างของการบูรณาการทำงานร่วมกับพื้นที่ วันนี้ทำให้ประชาชนได้รับการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง กลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงบริการ ได้รับการดูแลโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากงบประมาณที่จัดสรรไม่ซ้ำซ้อน และสามารถบูรณาการกับกองทุนจากหน่วยงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสานพลัง และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเหล่าภาคีอาสา(Area Strengthening Alliance -ASA) ในวันนี้ จะยิ่งช่วยสนับสนุน “เชียงราย ล้านนาแห่งความสุข” สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนได้”
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้จะไม่เพียงเป็นแค่คำมั่น หากแต่จะเป็น “รูปธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่จับต้องได้ในพื้นที่ ผ่านการบริหารจัดการเชิงบูรณาการที่ตอบโจทย์ประชาชนโดยตรง ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่ได้กำหนดปัญหาที่ชัดเจน ใช้งบไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดพลังในการแก้ปัญหา จากปัญหาดังกล่าวจึงช่วยกันผลักดันให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ ให้พื้นที่เป็นพระเอก กำหนดปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขด้วยตัวเอง อย่างเช่น ปัญหาเด็กจมน้ำเสียขีวิตระยะหนึ่งก็มีตำบลเอาปัญหาตรงนี้มาขับเคลื่อน ด้วยการในพื้นที่มีการจัดอบรมเด็ก สอนให้เด็กได้เรียนรู้ มีการสร้างนวัตกรรมสระน่ำที่ให้เด็กเรียนได้ที่ใช้วัสดุง่ายๆแต่ยั่งยืน และพบว่าในตำบลนั้นไม่มีเด็กเสียชีวิตเลยเป็นต้น
ซึ่งเวทีสานพลังภาคีอาสา“เชียงรายล้านนาแห่งความสุข”เชื่อมสานพลังบูรณาการกลไกทุกภาคส่วน สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ และจะกลายเป็นแบบอย่างที่ขยายผลไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศ โดยตอนนี้เริ่มนำร่องใน 7 จังหวัดแล้ว
“อย่างครั้งนี้ที่ จ.เชียงรายก็มีการกำหนดปัญหาใหญ่ๆร่วมกันไว้ 9 ประเด็น เช่น ด้านสาธารณสุข วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีแนวทางไหนที่เข้ากับกลไกของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเข้าไปช่วยหนุนเสริม บูรณาการตั้งแต่องค์ความรู้ ระบบข้อมูล และกิจกรรม ทำให้เกิดการใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งในอดีตพื้นที่ไม่ได้มีการพูดคุย ขึ้นอยู่กับใครสนใจก็เขียนโครงการส่งเข้ามา ให้กรรมการในพื้นที่เป็นผู้ตัดสิน ทำให้บางส่วนใช้งบประมาณไม่หมด ทำให้งบปีต่อไปต้องลดลง งบนั้นต้องเอาไปใช้อย่างอื่น แต่ถ้าพื้นที่เข้มแข็ง สามารถนำปัญหาหลายอย่างมาแก้ปัญหาได้และเกิดความยั่งยืนด้วย” นพ.จเด็จกล่าว