Kick Off เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ดูแลผู้ต้องขังด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ นำร่องนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เผยมีจ.นราธิวาส ให้บริการกว่า 3,000 คน คนได้รับการดูแลสุขภาพช่องปาก
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายกูเฮง ยาวอฮะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. และนพ.สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต. ) ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผอ. ฝ่ายสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ และการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รอง ผอ.สปสช.เขต 12 สงขลา
ร่วมเปิดโครงการ “บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส โดยความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย เพื่อจัดบริการด้านทันตกรรมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ และในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย แพร่ นราธิวาส เพชรบุรี และ ร้อยเอ็ด ภายใต้ นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ
ศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว่า นโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยความยึดถือคุณค่าของมนุษยธรรมและความเท่าเทียมในสุขภาพ ไม่เพียงแต่ลบล้างข้อจำกัดของพื้นที่และสถานะทางสังคม แต่ยังขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพคุณภาพสูงให้แก่ทุกคนโครงการบริการทันตกรรมเคลื่อนที่ ไม่เพียงเป็นการให้บริการทางการแพทย์ที่จำเป็น แต่ยังเป็น ทูตแห่งความดีงามที่แสดงให้เห็นว่า ในทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใด ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด และยังเป็นส่วนของการขยายผลความดีงาม ที่ได้เริ่มให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำไปแล้ว ที่จ.แพร่ และจะขยายไปยังเรือนจำทัณฑสถาน สถานพินิจเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 แห่ง ภายใต้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวต่อไป
นายกูเฮง ยาวอฮะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม มีภารกิจหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขัง โดยปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขัง ในสังกัดจำนวน 143 แห่ง และจากข้อมูลสำรวจทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2567 มีผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 280,835 คน แยกเป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 246,678 คนและผู้ต้องขังหญิงจำนวน 34,157 คน
สำหรับที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสนี้ มีผู้ต้องขังจำนวนทั้งสิ้น 3,210 คน เป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 2,678 และผู้ต้องขังหญิงจำนวน 532คน
“ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์มีนโยบายในการดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยดำเนินการภายใต้ “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในการพัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างคุณภาพและมาตรฐาน เท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ต้องขัง ภายใต้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่ได้มาร่วมดำเนินการและเปิดโครงการฯ ในวันนี้ (27 มีค.) นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ แล้วยังเป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพช่องปากให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ”เลขานุการรัฐมนตรีฯกล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า สปสช. ได้ประสานความร่วมมือกับ “ชมรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย” นำรถทันตกรรมเคลื่อนที่ของหน่วยบริการที่อยู่ภายใต้ชมรมฯ มาร่วมให้บริการผู้ต้องขัง จำนวน 9,094 คน ในเรือนจำและสถานพินิจเด็กและเยาวชน 12 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่องบัตรประชาชนใบเดียว ในวันนี้จะเป็นการ Kick off การให้บริการฯ ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส มีเป้าหมายให้บริการจำนวน 3,210คน
รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สำหรับการให้บริการทันตกรรมสำหรับผู้ต้องขัง กรณีเป็นผู้มีสิทธิบัตรทองฯ จะเป็นการให้บริการตามความจำเป็น 6 รายการ ได้แก่ ตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ขูดหินปูน อุดฟัน และ ถอนฟัน ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองก็จะได้รับบริการการให้คำปรึกษาและบริการเคลือบฟลูออไรด์ชนิดเข้มข้นสูงเฉพาะที่ โดยผู้ที่เป็นกรณีหญิงตั้งครรภ์จะได้รับบริการบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน และบริการขัดทำความสะอาดฟัน นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป จะได้รับบริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก
“บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ นี้ได้ช่วยลดข้อจำกัดการเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ เพราะสามารถออกให้บริการเชิงรุกไปในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่นในเรือนจำ ทั้งยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นได้ โดยหลังจากนี้จะมีการขยายบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ นี้ต่อไป เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้รับบริการโดยทั่วถึง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
จากนั้น คณะ ฯได้เยี่ยมชมการจัดบริการทันตกรรมแก่ผู้ต้องขัง โดยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ ประกอบด้วย หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ รถทันตกรรม หน่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วยเรื้อรัง หน่วยบริการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังที่มีอาการทางจิตเวช และ หน่วยบริการ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในผู้ต้องขังหญิง
นอกจากนี้แล้ว คณะ ฯ ลงเยี่ยมติดตามเสริมพลังที่หน่วยนวัตกรรม “บ้านทอนคลินิกเวชกรรม” ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส มี นพ.ฮัยซัน เจะตู เจ้าของคลินิก “บ้านทอนคลินิกเวชกรรม” ต้อนรับและพาชมการให้บริการในคลินิก ระบุว่า เริ่ม kick off ตั้งแต่ 7 มกราคม และตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2567 มียอดผู้มาใช้บริการ สะสม 3 เดือน จำนวน 659 คน มียอดเบิกจ่ายแล้ว 242,226 บาท.