
หมอจเด็จ เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา เด่นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ดูแลประชาชน
หมอจเด็จ เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา ชี้มีความโดดเด่นในด้านผลงานและการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เป็นโมเดลกองทุนฟื้นฟูฯดูแลประชาชน ในพื้นที่ และจะยิ่งมีบทบาทสำคัญหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ในอนาคต
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ และ นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษากลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ และนพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา เดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 58 แห่งทั่วประเทศ จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในแต่ละจังหวัดขึ้นมา โดยในส่วนของกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลาที่ดำเนินงานโดย อบจ.สงขลา นั้น เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ดำเนินงานได้อย่างโดดเด่นทั้งด้านการดำเนินภารกิจตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน และความโดดเด่นในการแสวงหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทำให้สามารถบูรณาการการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกมิติ
ทั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสงขลา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 และได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก เช่น การจัดตั้งศูนย์สร้างสุขชุมชน เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแล ช่วยเหลือสนับสนุนและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการสาธารณสุข ขยายบริการไปในระดับชุมชนและในครอบครัว สร้างความเข้มแข็งในการช่วยเหลือกันในชุมชน ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 9 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน เพื่อให้บริการซ่อมบำรุง ยืม-คืน กายอุปกรณ์ ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วจำนวน 3 แห่ง มีธนาคารสร้างสุขชุมชนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการยืมกายอุปกรณ์/เครื่องช่วยความพิการอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ มีการเปิดศูนย์กลางในการสาธิตและยืม-คืน กายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในโรงพยาบาล 17 แห่งทั่ว จ.สงขลา และยังจัดตั้งศูนย์ผลิตสร้างสุขชุมชน เพื่อผลิตกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีมาตรฐาน ตามประกาศรายการกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และรายการอื่น ๆ ตามความจำเป็นในพื้นที่อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการบ้านสร้างสุขชุมชน ซึ่งเป็นการปรับสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง โดยตั้งแต่เริ่มโครงการสามารถปรับสภาพบ้านได้แล้วจำนวน 265 หลัง รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 9 ล้านบาท
“อีกประเด็นที่มีความโดดเด่นอย่างมาก คือเรื่องการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม โดยปัจจุบันมีกว่าเครือข่าย 800 เครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานของกองทุนและส่งเสริมความเข้มแข็งในการทำงานโดยให้ อบจ.สงขลา เป็นศูนย์กลาง อีกทั้งมีการทำข้อตกลงในระดับพื้นที่ร่วมกับ 13 หน่วยงานในการบูรณาการระบบฐานข้อมูลกลาง ทำให้ทุกภาคส่วนทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนและลดช่องว่างในการทำงาน”นพ.จเด็จ กล่าว
“ในอนาคตจะมีการกระจายอำนาจ โอนย้ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาสังกัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะยิ่งทำให้ อบจ. และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดมีบทบาทในการจัดบริการด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น และ จ.สงขลา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด สามารถดำเนินโครงการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างไรบ้าง และ สปสช. จะสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดและกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับตำบลให้มากขึ้นอีกในอนาคต”เลขาธิการฯกล่าว
ด้าน ไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดในจังหวัดสงขลา ได้บูรณาการหน่วยงานต่างๆในการจัดดำเนินงาน 3 ด้านหลักๆ 1. ศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชนเพื่อแก้ปัญหากายอุปกรณ์และเป็นศูนย์กลางในการบริการซ่อมบำรุง การยืม-คืน รวมถึงการรับบริจาคกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแบบบูรณาการให้กับ ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็วโดยร่วมกับ14องค์กรภาคีเครือข่าย ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 3 แห่งที่ได้ดำเนินการแล้ว โดยร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ ,วิทยาลัยการอาชีพหน้าทวี และเทศบาลเมืองสะเดา ส่วนอีกอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อที่จะให้ครบคลุมทุกพื้นที่
2.ศูนย์สร้างสุขชุมชน(ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ)โดยจังหวัดมีการตั้งศูนย์สร้างสุข 16 อำเภอมีเป้าหมาย 19 แห่งให้บริการไปแล้ว 11 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 8 แห่งมีกายภาพ, นวด, ฝึกเดิน ฯลฯ และยืมของได้ด้วย มีกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ
และ3. โครงการบ้านสร้างสุขชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือ ปรับสภาพบ้าน, ที่อยู่อาศัย ให้สะดวกกับผู้พิการ, ผู้สูงอายุ, ผู้มีภาวะพึ่งพิง ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านนายเอก ขวัญพรหม ผู้จัดการศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน อบจ.สงขลา ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ กล่าวว่าในฐานะเป็นหัวหน้าช่างและครูสอนผู้พิการที่สนใจอยากเป็นช่างทำเรื่องการซ่อมกายอุปกรณ์ เช่น รถเข็นวิวแชร์ เบาะรองนั่ง เบาะรองนอน ช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสหากมีอุปกรณ์ชำรุด โดยทำงานศูนย์แห่งนี้มาแล้วประมาณ 3 ปี และเคยเป็นช่างทำเรื่องซ่อมบำรุงก่อนหน้ารวม 8ปีโดยดูแลทั่วไป
เพราะบางครั้งผู้พิการอุปกรณ์ต่างๆมีการชำรุดสึกหลอศูนย์แห่งนี้จะช่วยเหลือโดยซ่อมให้ฟรี แต่เรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่ชำรุดจะต้องเป็นผู้ซื้อมาเองซึ่งศูนย์แห่งนี้มีผู้มาใช้บริการซ่อม 40-50 คน แล้วแต่ความยากง่ายของอุปกรณ์นั้นๆ และตนรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือสังคม ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสเพราะที่แห่งนี้เป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง.