“นายกฯ แพทองธาร” นั่งหัวโต๊ะสภานโยบายฯ เคาะแนวทางการนำอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) หนุนอุตสาหกรรมขั้นสูงตามความต้องการของประเทศ เห็นชอบกรอบงบ อววน. ประจำปี 2569
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบาย) ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
การประชุมในครั้งนี้สภานโยบายได้เห็นชอบ กรอบแนวทางการนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงตามความต้องการของประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนภารกิจด้าน อววน. ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ โดยการผลิตและพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ 2 วาระ สำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
2) อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) 3) อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ 4) อุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง และวาระสำคัญ 2 วาระ ประกอบด้วย 1) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด และ 2) การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในมิติของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การจัดการมลพิษ และการลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อาจขึ้นได้อนาคต
ที่ประชุมสภานโยบายยังมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของประเทศ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ครอบคลุมทั้ง Ecosystem ของอุตสาหกรรมดังกล่าว ตั้งแต่การผลิตกำลังคน การยกระดับผู้ประกอบการ ไปจนถึงการพัฒนาศูนย์ทดสอบ โดยในระยะ 5 ปี รัฐบาลตั้งเป้าผลิตกำลังคนเฉพาะทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ไม่ต่ำกว่า 80,000 คน เพื่อรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ผ่านหลักสูตรในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ได้ออกแบบร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ (Higher Education Sandbox) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะตรงตามความต้องการได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดตั้ง Training Center 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับและเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ ให้แก่กำลังแรงงานที่อยู่ในระบบ รวมถึงการวิจัยร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนเตอร์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงชั้นนำของโลกได้ในอนาคต
ในการประชุมครั้งนี้ สภานโยบายยังมีมติเห็นชอบโครงการระบบคลังหน่วยกิตกลางหรือ National Credit Bank System ซึ่งในอนาคตผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิต ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ยังสามารถสะสมหรือเทียบโอนหน่วยกิตที่ได้จากการทำงานหรือประสบการณ์วิชาชีพต่าง ๆ ได้ด้วย โดยในท้ายที่สุดผู้เรียนสามารถนำหน่วยกิตที่ได้ไปเทียบเป็นคุณวุฒิต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ดังกล่าวยังมีลักษณะสำคัญ คือ การจับคู่ทักษะ ซึ่งผู้เรียนจะสามารถรู้ได้ว่าตนเองยังขาดทักษะหรือความรู้ในด้านใด และจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ด้านใดเพิ่มเติม เพื่อนำตนเองไปสู่เป้าหมายอาชีพที่อยากทำในอนาคตได้ โครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่สามารถมอบรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กับประชากรทุกกลุ่ม โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุและวุฒิการศึกษา
นอกจากนี้สภานโยบายยังมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 160,136 ล้านบาท โดยงบประมาณด้านการอุดมศึกษาประมาณ 115,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งในระบบปริญญา (Degree Program) และหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program) โดยตั้งเป้าผลิตนักศึกษาในหลักสูตรที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศกว่า 670,000 คน และกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟพาวเวอร์กว่า 133,000 คน
นอกจากนี้ งบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ เช่น การสร้างกำลังคนทักษะสูงในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ๆ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ และยานยนต์ไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 20,000 คน การสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1,000 คน การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีทักษะสมัยใหม่ ไม่น้อยกว่า 1,000 วิสาหกิจ เป็นต้น ในส่วนของงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 44,900 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการแก้ไขประเด็นวิกฤตและเร่งด่วนของประเทศ โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม