29.9 C
Thailand
เสาร์, กรกฎาคม 26, 2025
spot_img

“จุฬาฯ พาสื่อมวลชนกระซิบฮักน่าน” เปิดพื้นที่งานวิจัยสู่ชุมชนในภูมิภาค เสริมบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม

ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดโครงการ “จุฬาฯ พาสื่อมวลชนกระซิบฮักน่าน” ระหว่างวันที่ 15 – 17 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง และตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำโดย ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาฯ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ที่ปรึกษาด้านแบรนด์จุฬาฯ รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธนสิน ชุตินธรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม และ ผศ.ดร.วิชฏาลัมพก์ เหล่าวานิช ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ให้การต้อนรับและนำสื่อมวลชนและ Influencer รวมกว่า 30 คนเยี่ยมชมงานวิจัยต่าง ๆ ของจุฬาฯ ในพื้นที่จังหวัดน่าน สร้างความเข้าใจในบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะผู้นำด้านองค์ความรู้และ การวิจัยที่พร้อมส่งต่อความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคมและชุมชน

ตลอดทั้งสามวันที่จัดโครงการ สื่อมวลชนได้ไปเยี่ยมชมผลงานวิจัยและหลากหลายกิจกรรมที่จัดขึ้น ที่ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาฯ จังหวัดน่าน

โดยมี ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทและพันธกิจของศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ ทั้งที่สถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลไหล่น่าน อาทิ

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโคแดงพื้นเมืองน่าน ควายน้ำว้า การเพาะกล้าไม้วงศ์ยาง การเลี้ยงไส้เดือนดิน กบนา โรงเรียนสาธิตการเลี้ยงสุกร

นิทรรศการการผสมเทียมสุกร รวมทั้งได้นำสื่อมวลชนเดินทางไปยังสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ เรียนรู้การแปรรูปนมแพะเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ชมนิทรรศการ “จุฬาฯ พัฒนาชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อน่านที่ยั่งยืน” และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งน่าน

นอกจากนี้สื่อมวลชนได้ร่วมกิจกรรม “ปลูกฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน” ร่วมกับ อบต. ผู้นำชุมชน และนักเรียน ณ พื้นที่ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน อาทิ โรงเรียนบ้านสบหนอง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย พร้อมร่วมกิจกรรมจากพี่สู่น้อง – มอบกระเป๋า ชุดนักเรียน ขนม ให้นักเรียนโรงเรียนบ้านสบหนอง จากนั้นได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชม วัดหนองบัว และตลาดชุมชนวัฒนธรรมไทลื้อ รวมทั้งสักการะวัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดน่าน เช่น วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร และวัดภูมินทร์

ผลงานวิจัยต่าง ๆ ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Social Engagement) ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ผ่านการประยุกต์ใช้ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเกษตรกรรมเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการ “จุฬาฯ พาสื่อมวลชนกระซิบฮักน่าน” จะช่วยขยายผลการรับรู้ของสังคมต่อบทบาทและภารกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดน่าน ในฐานะมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนและตอบแทนสังคม ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้กับการลงมือปฏิบัติจริงในชุมชน

สำหรับศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ ถือเป็นฐานการเรียนรู้ด้านงานวิจัยและบริการวิชาการที่สะท้อนวิสัยทัศน์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยในการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับการพัฒนาท้องถิ่น อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการช่วยเหลือสังคม

บทความที่เกี่ยวข้อง
- Advertisment -spot_img

บทความยอดนิยม

- Advertisment -spot_img

ความคิดเห็นล่าสุด

- Advertisment -spot_img