สอวช. เปิดข้อมูลการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้านสะเต็มเกือบ 900 ตำแหน่ง เผยตัวเลขประมาณการรายได้รวมของลูกจ้าง สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจกว่า 360 ล้านบาท
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ตามที่ สอวช. ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สป.อว.) จัดทำแพลตฟอร์มบริการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการพัฒนากำลังคนสำหรับภาคอุตสาหกรรมขึ้นมา ผ่านเว็บไซต์ https://stemplus.or.th/ ปัจจุบันแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ให้บริการการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงและการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมด้าน “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์” หรือ สะเต็ม (STEM) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสนับสนุนทางภาษีภายใต้โครงการ Thailand Plus Package ที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับและพัฒนาทักษะของบุคลากรผ่านรูปแบบการฝึกอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจากกระทรวง อว. รวมทั้งการส่งเสริมการให้เกิดการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า มาตรการทางภาษีที่สนับสนุนประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 250% สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็ม ที่ผ่านการรับรองโดยกระทรวง อว. และมาตรการที่ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็ม ให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านสะเต็ม ในมาตรการ Thailand Plus Package นั้น ปัจจุบันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ได้จ้างพนักงานใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็น “เงินเดือน” พนักงานตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 150% จากกรมสรรพากร โดยขณะนี้มีการรับรองแล้ว 894 ตำแหน่งงาน จาก 46 บริษัท ประมาณการรายได้รวมของลูกจ้างซึ่งเป็นเม็ดเงินที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจราว 360 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงด้านสะเต็ม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก อว. สามารถนำค่าใช้จ่ายตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 250% จากกรมสรรพากร มีการรับรองหลักสูตรไปแล้ว 472 หลักสูตร จาก 46 หน่วยฝึกอบรม จำนวนผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งหมด ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package ล่าสุดมีจำนวน 15,388 คน จาก 608 องค์กร โดยผู้ประกอบการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคิดเป็น 173 ล้านบาท จำนวนเงินรวมที่ผู้ประกอบการจะขอลดหย่อนภาษีจากการส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง ได้เพิ่มขึ้น 150% คิดเป็นมูลค่ากว่า 51.9 ล้านบาท และบริษัทยังได้พนักงานที่มีทักษะในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย