สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว
สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและชาวไทยที่ได้แรงกระตุ้นมาจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 รวมถึงธุรกิจภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า แต่ยังคงมีปัจจัยลบทั้งด้านต้นทุนสินค้าที่ยังคงตัวในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มปรับตัวลดลง และด้านคู่แข่งขันที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนมีนาคม 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 54.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตเป็นสำคัญ รวมถึงภาคการบริการ และภาคธุรกิจการเกษตร ส่วนภาคการค้าแม้ค่าดัชนีลดลงแต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวการค้าส่งที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการช่วงเทศกาลในเดือนถัดไป
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนีSMESI เดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น ได้แก่ กำไร ต้นทุน คำสั่งซื้อโดยรวมและการจ้างงาน ซึ่งมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 62.4 40.4 64.9 และ 51.0 จากระดับ 59.7 39.2 63.9 และ 50.7 ตามลำดับขณะที่องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการและการลงทุนชะลอตัวลงจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 57.9 และ 52.8 จากระดับ 58.8 และ 53.9 โดยเกือบทุกองค์ประกอบค่าดัชนีฯ อยู่สูงกว่าค่าฐานที่ 50 ค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในแต่ละองค์ประกอบในระดับที่ดี มีเพียงด้านต้นทุนที่แม้จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการผลิต มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 53.6จาก 52.2 ผลจากยอดขายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภค โดยมีกำลังซื้อมาจากทั้งผู้บริโภคและลูกค้าที่ซื้อมาขายไป นอกจากนี้ยังได้ปัจจัยบวกจากราคาสินค้าต้นทุนหลายรายการที่ปรับตัวดีขึ้น รองลงมา คือ ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 57.7 จากระดับ 57.1 ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กลุ่มท่องเที่ยวและร้านอาหาร กลุ่มสันทนาการ กลุ่มร้านนวดและสปาฯลฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 54.4 จากระดับ 54.0 ขยายตัวจากปัจจัยบวกทั้งด้านราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้น ในกลุ่มสินค้าพืชไร่ รวมถึงผักและผลไม้ ขณะที่ราคาสินค้าต้นทุน เช่น ปุ๋ย ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ส่วนภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 53.3 ภาพรวมภาคการค้าชะลอตัวลงจากในหลายพื้นที่มีกำลังซื้อลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ภาคการค้าส่งปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากลูกค้ามีการซื้อสินค้าเพื่อนำไปสต็อกสินค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาคเดือนมีนาคม 2566 พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค และยังคงอยู่ในระดับเกินค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่ ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 53.6 จากระดับ 52.1 ผลจากภาคธุรกิจยังขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการเริ่มมีการสต็อกสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนถัดไป รองลงมาคือ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 59.1จากระดับ 57.7 ผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากรัสเซีย สิงคโปร์และจีน อีกทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่ได้อานิสงส์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 มากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก ส่งผลบวกกับกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตทั้งกลุ่มอาหารและเสื้อผ้า รวมถึงกลุ่มบริการนวดและสปา เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 54.2 จากระดับ 53.3 โดยภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่องและมีการจองล่วงหน้าในช่วงเทศกาลในเดือนถัดไป รวมถึงธุรกิจการก่อสร้างและร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ที่ขยายตัวจากความต้องการปรับปรุงและขยายสถานที่เพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.2จากระดับ 52.4 กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารทั้งผลิตอาหารและร้านอาหารมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อในรูปแบบขายส่งของอาหารอีสานที่สามารถเก็บได้หลายวัน เช่น กุนเชียง แหนมและปลาร้า รวมถึงผลดีจากต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนภูมิภาคที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 56.3 จากระดับ 57.8 ผลจาก จากปัจจัยฤดูกาลที่ร้อนจัด รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนไทยและเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างไรก็ตามพื้นที่ยังมีกำลังซื้อเสริมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคนจีน ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 52.3 จากระดับ 54.2 เป็นผลมาจากภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มผลิตอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์จากโลหะและยางที่ชะลอตัวลงหลังจากที่ปรับตัวพุ่งสูงในเดือนก่อนหน้า แต่สถานการณ์ด้านต้นทุนในพื้นที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 53.5 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนและค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง รวมถึงไม่แน่ใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงหลังการเลือกตั้งอีกด้วย
นอกจากนี้ สสว. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับความต้องการรับการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากภาครัฐ พบว่า ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการมากที่สุด คือ ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย ในรูปแบบของการควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบลดค่าสาธารณูปโภค รองลงมา คือ ด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยต้องการให้ขยายโครงการกระตุ้นกำลังซื้อที่เคยดำเนินการแล้วอีกครั้ง อาทิ โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น ด้านการตลาด ต้องการให้ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ส่งเสริมความรู้ในการทำการตลาด และการยกระดับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น